ข้อมูลบทความ
Title:
การใช้วัสดุฟองน้ำไคโตซาน-เจลาตินเป็นวัสดุทดแทนกระดูกในสัตว์ทดลองกระต่าย
Keyword(s):
รูปแบบสัตว์, วัสดุทดแทนกระดูก, เจลาตินไคโตซานไคโตซานฟองน้ำ
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความสามารถในการหายของกระดูกเมื่อใช้วัสดุฟองน้ำไคโตซาน-เจลาติน เป็นวัสดุทดแทนกระดูกในแบบจำลองกระดูกกะโหลกศีรษะของสัตว์ทดลองกระต่าย และเปรียบเทียบกับการหายของกระดูก เมื่อใช้กระดูกปลูกถ่ายเนื้อเยื่อตนเอง  โดยทำการศึกษาในกระต่ายพันธุ์นิวซีแลนด์ไวต์  จำนวน 6 ตัว  แต่ละตัวจะทำรอยวิการบนกระดูกกะโหลกศีรษะเป็นรูปวงกลม ขนาด  8 มิลลิเมตร  2 ข้าง แล้วใส่วัสดุฟองน้ำไคโตซาน-เจลาติน และกระดูกปลูกถ่ายเนื้อเยื่อตนเองแต่ละข้างตามลำดับ  ใช้ระยะเวลาการทดลองนาน  12  สัปดาห์  แล้วจึงนำตัวอย่างมาวิเคราะห์ โดยภาพรังสีร่วมกับการเทียบมาตรฐานด้วยสเตปเวดส์  และลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาเปรียบเทียบทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ  ผลการศึกษาพบว่า  วัสดุฟองน้ำไคโตซาน-เจลาตินสามารถทำให้เกิดการหายของกระดูกได้โดยทำหน้าที่เป็นโครงร่างของเซลล์สร้างกระดูกรวมทั้งสามารถพบบริเวณที่มีการสร้างกระดูกใหม่ ประมาณร้อยละ 40-45  เมื่อเปรียบเทียบกับกระดูกปลูกถ่ายเนื้อเยื่อตนเอง  แต่อย่างไรก็ตามค่าความเข้มของภาพรังสีและปริมาณของกระดูกทางจุลพยาธิวิทยา ที่วัดได้เป็นร้อยละ ระหว่างวัสดุปลูกกระดูกทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ
( p <  .05)  จากการทดลองนี้สามารถสรุปได้ว่า  การใช้ฟองน้ำไคโตซาน-เจลาตินอย่างเดียวเป็นวัสดุทดแทนกระดูก สามารถทำให้เกิดการหายของกระดูกได้ แต่มีคุณภาพไม่ดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกระดูกปลูกถ่ายเนื้อเยื่อตนเอง  อย่างไรก็ดีควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้วัสดุฟองน้ำไคโตซาน-เจลาตินในรูปแบบอื่นเพื่อเป็นวัสดุทดแทนกระดูก