ข้อมูลบทความ
ปี 2016 ปีที่ 66 ฉบับที่ 1 หน้า 44-59
Title:
ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการปฏิบัติงานคลินิกของนักศึกษาทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Keyword(s):
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, ผลการปฏิบัติงานคลินิก, ทันตแพทยศาสตร์ศึกษา, ความฉลาดทางอารมณ์
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (i) ศึกษาระดับความฉลาดทางอารมณ์ของนักศึกษาทันตแพทย์ (ii) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความฉลาดทางอารมณ์กับปัจจัยด้านเพศ ชั้นปี และประเภทของโรงเรียนมัธยมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาและ (iii) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความฉลาดทางอารมณ์กับคะแนนความรู้ ทักษะปฏิบัติการและคลินิกของนักศึกษาทันตแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 - 6 ประจำปีการศึกษา 2557 จำนวน 116 คน จาก 122 คน ยินยอมเข้าร่วมการศึกษา และมีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการวิเคราะห์ นักศึกษาผู้เข้าร่วมงานวิจัยทำแบบสอบถาม ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 52 ข้อซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ด้านย่อย ได้แก่ การควบคุมตนเอง การเห็นใจผู้อื่น ความรับผิดชอบ การมีแรงจูงใจ การตัดสินใจแก้ปัญหา ความมีสัมพันธภาพ ความภูมิใจในตนเอง ความพอใจในชีวิต และความสุขสงบทางใจ ใช้สถิติเชิงพรรณนาในการดูการกระจายของคะแนนรวม และคะแนนด้านย่อยของความฉลาดทางอารมณ์ สถิติการทดสอบค่าทีของตัวแปรที่เป็นอิสระกัน สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการทดสอบไคแสควร์ ใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของความฉลาดทางอารมณ์กับคะแนนเฉลี่ยความรู้ ทักษะปฏิบัติการและคลินิก รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ การศึกษานี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยคะแนนรวมความฉลาดทางอารมณ์เท่ากับ 161.72 ± 13.78 กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนแต่ละด้านย่อยเกือบทุกด้านอยู่ในช่วงค่าปกติ ยกเว้นด้านการควบคุมตัวเองที่กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติ คะแนนด้านความสุขสงบทางใจของชั้นปีที่ 6 สูงกว่าชั้นปีที่ 5 (p = 0.039) คะแนนด้านการเห็นใจผู้อื่นของเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย (p = 0.046) คะแนนด้านการเห็นใจผู้อื่น (p = 0.011) และด้านความรับผิดชอบ (p = 0.012) ของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาลสูงกว่าโรงเรียนเอกชน นอกจากนี้พบว่า ความฉลาดทางอารมณ์ ด้านการตัดสินใจแก้ปัญหา (r = 0.297; p < 0.01) ด้านความภูมิใจ ตัวเอง (r = 0.277; p < 0.01) และด้านความมีสัมพันธภาพ (r = 0.199; p < 0.05) สัมพันธ์กับคะแนนคลินิกเฉลี่ยวิชาคลินิก การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ความฉลาดทางอารมณ์ในบางด้านเป็นอีกปัจจัยหนึ่งนอกจากความสามารถด้านการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงานคลินิกของนักศึกษาทันตแพทย์