ข้อมูลบทความ
ปี 2021 ปีที่ 71 ฉบับที่ 3 หน้า 212-221
Title:
เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการดูแลผู้ป่วยเด็กทางทันตกรรม ตอน 1: ก่อนเริ่มการรักษา
Author(s):
เพียงฤทัย ฤกษ์สมโภชน์, ฐานวุฒิ คงปรีชา,
พรพจน์ เฟื่องธารทิพย์, ศศิภา ธีรดิลก, แพรวพัชร ปัจฉิมสวัสดิ์
Keyword(s):
การดูแลทางทันตกรรม, เด็ก, เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันและสามารถนำไปสู่การบาดเจ็บ ที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วยเด็กในระหว่างการมารับการรักษาทางทันตกรรม การศึกษานี้แบ่งเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ก่อนการรักษา และตอนที่ 2 เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขณะรับการรักษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการสำรวจทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยเด็กด้วยแบบสอบถาม โดยสอบถามถึงประสบการณ์ตรงที่เคยพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในขณะปฏิบัติงาน ภายในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาหรือน้อยกว่า นำมาวิเคราะห์หาค่าร้อยละและค่าความถี่ของเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาทางทันตกรรม ผู้ศึกษาตรวจสอบหาความสัมพันธ์ของข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามกับการมีประสบการณ์ที่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยใช้ไคสแควร์ และสถิติวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นทันตแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็ก จำนวน 390 คน เคยประสบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนเริ่มการรักษา ในพื้นที่รอการรักษา คิดเป็น ร้อยละ 49.49 (ร้อยละ 44.53-54.45 ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95) มีผู้เคยประสบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ก่อนเริ่มการรักษา ในห้องรับการรักษา คิดเป็น ร้อยละ 39.23 (ร้อยละ 34.38-44.08 ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95) บาดเจ็บจากลื่นหกล้มได้รับรายงานสูงสุดในพื้นที่รอการรักษา และการได้รับบาดแผลจากของมีคม ได้รับรายงานสูงสุดในพื้นที่ห้องรับการรักษา ไม่พบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์การพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นอกห้องรับการรักษา แต่พบว่า ทันตแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมสำหรับเด็กมีโอกาสพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในห้องรักษาทางทันตกรรมมากกว่าทันตแพทย์กลุ่มอื่น เป็น 1.57 เท่า (ค่าอัตราส่วนปัจจัยเสี่ยง 1.57,
p=0.032) การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ทันตแพทย์ประสบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อผู้ป่วยเด็กเป็นจำนวนมาก ทั้งในบริเวณพื้นที่รอการรักษา และในห้องรักษาตั้งแต่ในขณะที่ยังไม่เริ่มการรักษา สถานพยาบาลทางทันตกรรมควรเน้นการดูแลอย่างเพียงพอและมาตรการการป้องกันความปลอดภัยของผู้ป่วย ตั้งแต่ช่วงเวลารอรับการรักษา