Title:
ความถูกต้องของแบบจำลองดิจิทัลที่ได้จากเครื่องสแกนในช่องปากเปรียบเทียบกับแบบจำลองปลาสเตอร์
Author(s):
วสวัตต์ ปราณีโชติรส, พิชญา ไชยรักษ์,
นงลักษณ์ สมบุญธรรม
Keyword(s):
การวิเคราะห์แบบจำลอง, การวิเคราะห์ภาพพื้นผิวสามมิติ, เครื่องสแกนในช่องปาก
Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความถูกต้องของพารามิเตอร์สองมิติ และระยะเบี่ยงเบนบนพื้นผิวสามมิติของแบบจำลองดิจิทัลที่ได้จากเครื่องสแกนเนอร์ในช่องปากสองชนิด กับแบบจำลองปลาสเตอร์ในกลุ่มตัวอย่างที่มีการสบฟันผิดปกติและกลุ่มตัวอย่างที่เคยได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย อาสาสมัครที่มีการสบฟันผิดปกติ (ค่าดัชนีพาร์ > 24, กลุ่มสบฟันผิดปกติ) และอาสาสมัครที่เคยได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน (ค่าดัชนีพาร์ < 9, กลุ่มเคยจัดฟัน) จำนวนกลุ่มละ 15 ราย แบบจำลองฟันของกลุ่มตัวอย่างมี 3 ชนิด คือ (1) แบบจำลองปลาสเตอร์ จากการพิมพ์ปากด้วยวัสดุอัลจิเนต (2) แบบจำลองดิจิทัลจากเครื่องสแกนเนอร์ในช่องปาก TRIOS® (3Shape A/S, Copenhagen, Denmark) (3) แบบจำลองดิจิทัลจากเครื่องสแกนเนอร์ ในช่องปาก CEREC Ortho® (Sirona Dental, Thailand) นำแบบจำลองมาศึกษาพารามิเตอร์ 2 มิติ 9 ตัว โดยแบบจำลองปลาสเตอร์ถูกวัดด้วยดิจิทัลคาลิเปอร์ ส่วนแบบจำลองดิจิทัลถูกวัดด้วยโปรแกรมเมชแลป (MeshLab, Italy) ศึกษาความแตกต่างระยะเบี่ยงเบนของพื้นผิวสามมิติของแบบจำลองฟันดิจิทัลสองชนิดโดยการซ้อนทับกันซึ่งแสดงโดยความแตกต่างของแผนที่ภาพสี ผลการศึกษา เมื่อทดสอบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มของพารามิเตอร์ 2 มิติ ด้วยสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และเปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีบอนเฟอโรนี่ พบว่าระยะความกว้างแนวขวางระหว่างฟันเขี้ยวบน ที่วัดจากแบบจำลองปลาสเตอร์ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับแบบจำลองดิจิทัลจากเครื่อง CEREC Ortho® (F(2,56) = 4.490, p= .016) โดยมีค่าแตกต่างเท่ากับ -0.146±0.057 มม. (p= .048) และพบว่าปัจจัยการสบฟันผิดปกติมีผลกระทบต่อค่า การเบี่ยงเบนของเส้นแนวกลางระหว่างแบบจำลองสามชนิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F(1.408, 39.430) = 5.421, p= .016) โดยค่าที่ได้จากแบบจำลองปลาสเตอร์ แตกต่างจากแบบจำลองดิจิทัลจากเครื่อง TRIOS® และ CEREC Ortho® อย่างมีนัยสำคัญ (Mean difference 0.234±0.068 มม., p= .005; 0.169±0.066 มม., p= .047) ตามลำดับ เมื่อใช้สถิติทดสอบค่าที เปรียบเทียบความแตกต่างเฉลี่ยของระยะเบี่ยงเบนของพื้นผิวสามมิติของแบบจำลองฟันดิจิทัลสองชนิด พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระหว่างกลุ่มสบฟันผิดปกติ และกลุ่มเคยจัดฟัน สรุปว่า แบบจำลองดิจิทัลสองชนิดมีความถูกต้องในระดับที่ยอมรับได้ทางคลินิก การสบฟันผิดปกติมีผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนของเส้นแนวกลางในแบบจำลองฟันดิจิทัลสองชนิด ส่วนระยะเบี่ยงเบนบนพื้นผิวสามมิติของแบบจำลองฟันดิจิทัลทั้งสองชนิดไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ