ข้อมูลบทความ
ปี 2021 ปีที่ 71 ฉบับที่ 3 หน้า 160-167
Title:
ผลของน้ำยาฆ่าเชื้อและวิธีการฆ่าเชื้อแบบต่าง ๆ ต่อแรงดึงเริ่่มต้นของโซ่อีลาสโตเมอร์ทางทันตกรรมจัดฟัน
Keyword(s):
โซ่อีลาสโตเมอร์, การฆ่าเชื้อ, แรงดึง
Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบสมบัติทางกลในแง่การให้แรงของโซ่อีลาสโตเมอร์ ภายหลังการฆ่าเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ โดยใช้โซ่อีลาสโตเมอร์ทั้งหมด 150 เส้น จาก 3 บริษัทผู้ผลิต แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 เส้นตามวิธีการฆ่าเชื้อ ได้แก่ การแช่ในเอทานอลที่ความเข้มข้นร้อยละ 70 คลอร์เฮกซิดีนที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.12 น้ำยาฆ่าเชื้อยี่ห้อยูโมเนียมที่ความเข้มข้นร้อยละ 2.5 การอบไอน้ำร้อน และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้นำไปฆ่าเชื้อด้วยวิธีใด ๆ ภายหลังจากการฆ่าเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ นำโซ่อีลาสโตเมอร์ไปวัดค่าแรงดึงเริ่มต้นด้วยเครื่องมือวัดและทดสอบแรงดึง ได้ผลการศึกษาว่าที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ค่าเฉลี่ยแรงดึงเริ่มต้นของโซ่อีลาสโตเมอร์ในกลุ่มควบคุมแต่ละบริษัทมีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และค่าเฉลี่ยแรงดึงเริ่มต้นของโซ่อีลาสโตเมอร์หลังอบไอน้ำร้อนมีค่าต่ำกว่าแรงเฉลี่ยในกลุ่มควบคุมของแต่ละบริษัทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่น้ำยาฆ่าเชื้ออื่น ๆ ไม่มีผลต่อค่าเฉลี่ยแรงดึงเริ่มต้นของโซ่อีลาสโตเมอร์ จึงสรุปว่าการฆ่าเชื้อด้วยการอบไอน้ำร้อนส่งผลเปลี่ยนแปลงสมบัติทางกลทำให้แรงของโซ่อีลาสโตเมอร์ลดลง แต่การแช่เอทานอลและน้ำยาฆ่าเชื้อยี่ห้อยูโมเนียมในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตไม่มีผลดังกล่าวต่อโซ่อีลาสโตเมอร์ ดังนั้นก่อนนำโซ่อีลาสโตเมอร์ไปใช้ในช่องปากแนะนำให้แช่น้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเพื่อเป็นประโยชน์ในการควบคุมการติดเชื้อภายในคลินิกทันตกรรมจัดฟัน