ข้อมูลบทความ
ปี 2021 ปีที่ 71 ฉบับที่ 3 หน้า 222-230
Title:
เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการดูแลผู้ป่วยเด็กทางทันตกรรม ตอน 2: ระหว่างการรักษา
Keyword(s):
การรักษาทางทันตกรรม, เด็ก, เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
Abstract:
จุดประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อรวบรวมเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในขณะให้การรักษาผู้ป่วยเด็กทางทันตกรรม โดยบทความตอน 1 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา บทความนี้จะนำเสนอถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขณะรับการรักษาที่มีความเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการรักษา ทำการสำรวจทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยเด็กด้วยแบบสอบถาม โดยสอบถามถึงประสบการณ์ตรงที่เคยพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในขณะปฏิบัติงาน ภายในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาหรือน้อยกว่า แบบสอบถามจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์เหตุเกิดบาดแผล/บาดเจ็บของร่างกาย และการระคายเคืองของเนื้อเยื่ออ่อนระหว่างการรักษาทางทันตกรรม นำมาวิเคราะห์หาค่าร้อยละและค่าความถี่ของเหตุการณ์ รวมทั้งรายงานถึงอุปกรณ์ทางทันตกรรมและอวัยวะส่วนของร่างกายที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบหาความสัมพันธ์ของข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามกับการมีประสบการณ์ที่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยใช้ไคสแควร์ และสถิติวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก จากผู้ตอบแบบสอบถามกลับ จำนวน 390 คน มีผู้เคยประสบเหตุการณ์การเกิดบาดแผลและการบาดเจ็บของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งระหว่างการรักษา คิดเป็น ร้อยละ 89.23 (ร้อยละ 86.15-92.31 ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95) หัวกรอ อุปกรณ์เปิดปาก และเข็มฉีดยา เป็นอุปกรณ์ที่พบเป็นสาเหตุการบาดเจ็บได้สูงสามลำดับแรก มีผู้เคยประสบเหตุการณ์การระคายเคืองของเนื้อเยื่ออ่อนจากวัตถุหรือน้ำยาเคมีร้อยละ 45.90 (ร้อยละ 40.95-50.85 ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95) โดยผงขัด/ผงพัมมิซ และ สารกัดชนิดกรดได้รับรายงานมากที่สุด ริมฝีปากและ ตาเป็นอวัยวะส่วนของร่างกายที่ได้รับรายงานว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากที่สุด ไม่พบปัจจัยใดของทันตแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์การพบเหตุการณ์การระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อน แต่พบว่าทันตแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน มีโอกาสประสบเหตุการณ์การเกิดบาดแผลและการบาดเจ็บน้อยกว่าทันตแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลในส่วนของภาครัฐและสถาบันการศึกษาเป็น 0.43 เท่า (ค่าอัตราส่วนปัจจัยเสี่ยง 0.43, p=0.016) การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยเด็กขณะรับการรักษาทางทันตกรรมเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง การใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกัน เช่น แผ่นยางกันน้ำลาย และแว่นป้องกันสายตา จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าสามารถนำมาใช้ได้ ควรส่งเสริมความตระหนักรู้และวัฒนธรรมความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางทันตกรรมต่อไป